จอมพลมหาอำมาตย์เอกเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี
จอมพลมหาอำมาตย์เอกเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี
จอมพลมหาอำมาตย์เอกเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี มีนามเดิมว่า เจิม แสง-ชูโต เกิดเมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๙๔ ตรงกับปลายรัชสมัย สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ท่านถือกำเนิดก่อนรัชกาลที่ ๓ จะเสด็จสวรรคต ๖ วัน (รัชกาลที่ ๓ เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๓๙๔) ท่านมีศักดิ์เป็นเหลนของ สมเด็จเจ้าพระยามหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค) หรือเสด็จองค์น้อย น้องชายของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุรยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) หรือ “เสด็จองค์ใหญ่” ขุนนางสองพี่น้องมีบทบาทอย่างมากในการบริหารกิจการบ้านเมือง ปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ต่อเนื่องต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
ท่านเจ้าคุณได้ชื่อว่าเกิดสองหนในชาติเดียวกัน หนแรกเกิดมาได้ สามขวบก็เสียชีวิต ท่านทวด ซึ่งเป็นท่านผู้หญิงของเสด็จองค์น้อย ได้เอาเขม่าไฟป้ายไว้ตรงทรวงอกและขอให้กลับมาเกิดเป็นหลานอีกหน ต่อมามาดาของท่าน(คุณหญิงเดิม บุนนาค) ได้ตั้งครรภ์และให้กำเนิดทารกเพศชาย มีปานดำที่ทรวงอกเหมือนที่ ท่านทวดได้ป้ายเขม่าไฟไว้ จนเป็นที่อัศจรรย์ใจ สมเด็จเจ้าพระยามหาพิไชยญาติหรือเสด็จองค์น้อย ผู้เป็นทวดจึงตั้งชื่อให้ว่า “เจิม”
ท่านเจ้าคุณได้เข้าศึกษาสรรพวิชาที่สำนักของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) หรือเสด็จองค์ใหญ่ ผู้เป็นทวด เมื่ออายุได้ ๑๕ ปี จนอายุ ๑๙ ปี (พ.ศ. ๒๔๑๔) ได้เข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กในล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ เมื่อครั้งทรงเสด็จฯ เสวยราชสมบัติแรกๆ โดยทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งกรมทหารมหาดเล็กเพื่อฝึกสอนวิชาทหาร “ท่านเจ้าคุณ” ได้รับบรรจุเป็นมหาดเล็กหมายเลข ๑ ต่อมาได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งกองทหารองครักษ์ซึ่งปัจจุบันเป็นกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ในปัจจุบัน
ตลอดระยะเวลาที่รับราชการท่านเจ้าคุณ เปรียบเสมือนทหารเอกคู่พระทัยองค์ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ ทรงไว้วางพระราชหฤทัยให้ประกอบราชกิจสำคัญหลายประการ กล่าวคือ
พ.ศ. ๒๔๒๖ เกิดเหตุโจรผู้ร้ายชุกชุมที่เมืองสุพรรณบุรี และหัวเมืองตะวันออก ขณะเป็น จมื่นไวยวรนาถ ได้รับมอบหมายให้ไปปราบปรามโจรผู้ร้ายจนสงบราบคาบ
พ.ศ. ๒๔๒๘ ได้รับมอบหมายให้เป็นแม่ทัพใหญ่ไปปราบฮ่อซึ่งเป็นกบฎที่หัวเมืองลาว ต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๓๐ พวกฮ่อได้กำเริบเสิบสานอีกครั้ง ได้รับมอบหมายให้ยกทัพขึ้นไปปราบ โดยได้คิดค้นและผลิตลูกระเบิดขึ้นใช้ในการรบ รวมถึงนำปืนใหญ่ขึ้นประเทียบบนหลังช้างเข้าทำการรบ กระทั่งปราบฮ่อได้ราบคาบ ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายพลตรีพระยาสุรศักดิ์มนตรี
พ.ศ. ๒๔๓๓ ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ ให้เป็นผู้บัญชาการกรมทหารบก (ผู้บัญชาการทหารบกในปัจจุบัน) ด้วยวัยเพียง ๓๗ ปี ครั้นปี พ.ศ. ๒๔๓๕ ได้รับโปรดเกล้าเป็นองคมนตรีในพระองค์และเป็นเสนาบดีกระทรวงเกษตรพาณิชยการอีกตำแหน่งหนึ่ง ถือเป็นเพียงสามัญชนเพียงไม่กี่คนที่ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้ดำรงตำแหน่งสำคัญของบ้านเมือง เพราะในสมัยนั้นผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ มักจะเป็นเชื้อพระวงศ์เสียเป็นส่วนใหญ่
พ.ศ. ๒๔๓๙ ได้รับโปรดเกล้าฯเป็นเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีและได้เลื่อนยศเป็นพลโทในกรมทหารบก เมื่อปีพ.ศ. ๒๔๔๑ ซึ่งตอนนั้นท่านมีอายุ ๔๖ ปี และได้ถวายบังคมลาออกจากราชการเพื่อมาประกอบกิจการทำไม้ที่ศรีราชา ก่อนที่ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ จะเสด็จประพาสยุโรป แต่พระองค์ท่านให้ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนจนกว่าจะเสด็จฯกลับ
พ.ศ. ๒๔๔๕ ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ ได้เรียกตัวกลับเข้ารับราชการอีกครั้ง เพื่อรับหน้าที่เป็นแม่ทัพไปปราบเงี้ยว ซึ่งก่อการจลาจลที่หัวเมืองฝ่ายเหนือ เมื่อปราบปรามเงี้ยวจนสงบกลับลงมากรุงเทพฯ ได้ถวายบังคมลาออกจากราชการอีกครั้ง เพื่อมาประกอบกิจการทำไม้อย่างจริงจัง
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชการที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี และได้รับพระราชทานนามสกุลว่า แสง-ชูโต ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ได้ทรงพระราชทานยศให้เป็น “จอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี” ในฐานะมีคุณงามความดีต่อประเทศชาติ
นอกจากจะเชี่ยวชาญด้านการรบแล้ว ในการถวายงานด้านกิจการบ้านเมือง“ท่านเจ้าคุณ”ยังได้ประกอบกิจการหลายอย่างที่สำคัญยิ่ง โดยในสมัยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกรมทหารบก (พ.ศ. ๒๔๓๓) เป็นผู้ออกแบบสร้างโรงทหารหน้าหรือกระทรวงกลาโหมดังที่เห็นในปัจจุบัน พร้อมทั้งเป็นผู้นำไฟฟ้าเข้ามาใช้ในประเทศไทยเป็นครั้งแรก โดยทดลองใช้ในพระบรมมหาราชวังและโรงทหารหน้า กระทั่งต่อมามีการจัดตั้งโรงไฟฟ้าแห่งแรกที่วัดเลียบและด้วยความที่ท่านชอบศึกษาเรื่องเครื่องจักรและเครื่องยนต์กลไกต่างๆ ท่านได้สั่งรถบดถนนเข้ามาใช้ทำถนนในเมืองไทยและท่านยังเป็นสามัญชนคนแรกที่เป็นเจ้าของรถยนต์นั่งส่วนบุคคลคันแรกในเมืองไทยอีกด้วย
ต่อมาในสมัยที่ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงเกษตรพาณิชยการ (พ.ศ. ๒๔๓๕) ท่านถือเอาการขุดคูคลองในพระนครและปริมณฑลเป็นนโยบายหลัก เพื่อไม่ให้น้ำท่วมกรุงเทพฯ และให้ราษฎรโดยรอบมีน้ำทำนาทั่วถึงกัน คลองที่สำคัญที่ทำการขุดคือ “คลองรังสิต” นอกจากนี้ท่านยังเป็นผู้สั่งซื้อเครื่องชั่งตวงวัด ในระบบเมตริกเข้ามาใช้ในเมืองไทยเป็นครั้งแรกอีกด้วย
หลังปี พ.ศ. ๒๔๖๕ “ท่านเจ้าคุณ” ได้วางมือจากบริษัทศรีมหาราชาฯ ทำป่าไม้ โดยโอนกิจการให้เสด็จในกรมฯ พระองค์หนึ่งซึ่งท่านรักและเมตตา ซึ่งต่อมากิจการได้กลายเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จากนั้น “ท่านเจ้าคุณ” ได้ใช้ชีวิตอยู่ที่เรือนไม้ในทะเลหลังใหญ่ปลายสุดแหลมฟาน ซึ่งท่านโปรดปรานบ้านหลังนี้มากเพราะล้อมรอบด้วยทะเล ปัจจุบันเรือนไม้ในทะเลหลังนี้ยังอยู่อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ คือบังกะโลหลัง A ในพื้นที่ห้องอาหารแกรนด์ซีไซด์และบังกะโลในเครือเอสแอนด์พี
“ท่านเจ้าคุณ” ชอบกินหมากไม่ค่อยขาดปาก รูปร่างสูงใหญ่ สง่างามสมที่เคยเป็นแม่ทัพ มีเรื่องเล่าว่า ตอนท่านป่วยหนักที่เรือนไม้ปลายแหลมฟาน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ ทรงมีพระกรุณาธิคุณ เสด็จฯเยี่ยมไข้พระองค์ท่านเสด็จฯโดยเรือรบ เพื่อประกอบพระราชกรณียกิจในทะเลย่านนี้ ทรงฯให้เรือรบจอดทอดสมอ และเสด็จลงเรือบดทหารกรรเชียงมาขึ้นฝั่งที่ปลายแหลมฟาน
อีกครั้งหนึ่งที่เล่ากันมา ก่อนที่ท่านเจ้าคุณจะถึงแก่อสัญกรรมไม่กี่เดือน (อสัญกรรม ๑ กรกฎาคม ๒๔๗๔) พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) หนึ่งในผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณายาสิทธิราช มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๕ มาพบท่าน ท่านเจ้าคุณรักใคร่พระยาพหลฯมาก เพราะเป็นบุตรของพันโทพระพหลพลยุหเสนา (กิ่ม พหลโยธิน) รองแม่ทัพที่ไปปราบฮ่อมาด้วยกัน พระยาพหลฯ ขอให้ท่านสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งท่านเห็นด้วยว่าเมืองไทยควรมีการปกรองแบบประชาธิปไตยอย่างนานาประเทศ แต่ท่านปฏิเสธการสนับสนุนและกล่าวกับพระยาพหลว่า
“ฉันได้ถวายความจงรักภักดีต่อราชวงศ์จักรีไปแล้ว ร่วมกับพวกแกไม่ได้ แม้จะให้สนับสนุน แต่เอาเถอะจะรักษาเรื่องนี้เป็นความลับ หาไม่พวกแกต้องคอขาด....”
ด้วยสัจจะชายชาติทหารว่าจะไม่แพร่งพรายความลับทำให้ปีรุ่งขึ้น ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ คณะราษฎร ได้ทำการเปลี่ยนการปกครองได้สำเร็จ
ท่านเจ้าคุณถึงแก่อสัญกรรม เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๔ รวมสิริอายุ ๘๐ ปี ถ้านับถึงปัจจุบันท่านมีชาตกาลรวมอายุ ๑๖๒ ปี ถึงอสัญกรรมมาแล้วรวม ๘๒ ปี ช่วงชีวิตท่านผ่านรัชสมัยพระมหากษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ถึง ๕ แผ่นดิน (ตั้งแต่รัชกาลที่ ๓ ถึงรัชกาลที่ ๗)
ทั้งหมดที่กล่าวมาคือคุณงามความดีที่ “ท่านเจ้าคุณ” ได้รังสรรค์ไว้ให้กับชาติบ้านเมือง ด้วยอุดมคติประเทศชาติเหนือสิ่งอื่นใดและภายใต้หลักการดำเนินชีวิต ๓ ประการ ที่ผู้เป็นบิดาคือ เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (แสง แสง-ชูโต) ได้สอนไว้คือ หนึ่ง ให้มีความซื่อสัตย์สุจริต รู้จักคุณบิดามารดาญาติพี่น้อง ผู้มีพระคุณผู้ได้อุปการะ สอง เมื่อทำผิดสิ่งไรให้พูกออกมาโดยจริง ไม่ให้พูดปดหรือแก้ตัวด้วยความเท็จ และสามไม่ให้ประพฤติตนด้วยความข่มเหงและเบียดเบียนผู้ใดเป็นอันขาด